การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management for Emerging risk , Impact and Mitigation plan)

1. ปัจจัยความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท

1.1 ความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทหรือกลุ่มบริษัท

บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จํากัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี คู่แข่ง และแนวโน้มอื่น ๆ ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ในการวางแผนอนาคต เพื่อบ่งชี้และประเมินความเสี่ยงสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร พร้อมทั้งจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยในปี 2565 บริษัทสมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี มีการประเมินและจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์

(1) ความเสี่ยงจากการแข่งขันและความต้องการของลูกค้า

ด้วยสภาพอุตสาหกรรมยานต์ยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในระดับผู้ประกอบยานยนต์แบรนด์ต่างๆ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งทำให้ความต้องการของลูกค้าได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเน้นการแข่งขันด้านต้นทุนและเทคโนโลยี อาจส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อผลประกอบการของบริษัท ทั้งนี้ทางบริษัทจึงได้ดำเนินการจัดการความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบ โดยการพัฒนาวัตถุดิบและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยและลดของเสียจากกระบวนการผลิต และการพัฒนากลุ่มวิศวกรเพื่อพัฒนาโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บริษัทยังได้ติดตามความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจในขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อยอดจากความสามารถทางการผลิตและเทคโนโลยีของบริษัทเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า รวมทั้งวางแผน Portfolio ของผลิตภัณฑ์โดยเน้นระดับรายได้ อัตรากำไรและกำลังการผลิตที่เหมาะสม นอกจากนี้ ทางบริษัทยังมีการบริหารความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นกับลูกค้าทุกระดับให้ยั่งยืนต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการในอนาคต

(2) ความเสี่ยงจากการดำเนินกลยุทธ์องค์กร

การเปลี่ยนแปลงของ Mega Trend ของโลกที่เข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้า และความต้องการของลูกค้าที่ต้องการลดต้นทุนชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ให้สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และปัจจัยข้างต้น โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตในมูลค่าทางธุรกิจด้วยการหาโอกาสในผลิตภัฑณ์ใหม่/ลูกค้าใหม่ รวมถึงสร้างการเติบโตผ่านการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการพัฒนาโอกาสทางการตลาดและความสามารถในการแข่งขันรองรับกลุ่มธุรกิจใหม่ จากกลยุทธ์ดังกล่าวในปี 2565 บริษัทได้ร่วมมือกับ บริษัท Tron Energy Technology ( Tron E) ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน คือบริษัท สมบูรณ์ ทรอน เอนเนอร์จี STRON เพื่อการขยายธุรกิจเข้าสู่การผลิตประกอบและจำหน่ายโครงสร้างในการขับเคลื่อนรถไฟฟ้า(EV) และแบตเตอรี่ นอกจากนี้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์บริษัทยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และศึกษาวัสดุใหม่ในการผลิต เพื่อตอบสนองต่อทิศทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงและเป็นการกระจายความเสี่ยงจากที่ธุรกิจชิ้นส่วนที่มีในปัจจุบันอาจไม่เติบโตหรือหดตัวลงได้ในระยะยาว

ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน (Operational risks)

(1) ความเสี่ยงเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาบุคลากรรองรับการเติบโตทางธุรกิจ ในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีเริ่มใช้วิศัยทัศน์ พันธกิจ ฉบับใหม่ เพื่อเน้นย้ำกลยุทธ์องค์กรที่มีการสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจใหม่ จากปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการเตรียมความพร้อมของผู้บริหารและบุคคลากรให้มีทักษะ ศักยภาพและวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับกลยุทธ์องค์กร ซึ่งอาจทำให้เกิดอุปสรรคบางด้านในการสร้างต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจ บริษัทจึงได้มีการจัดทำแผนรองรับ โดยเฉพาะ การปรับโครงการองค์กร และการจัดทำแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารและตำแหน่งที่สำคัญ (Succession Planning for Management and Critical position) เพื่อสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังดำเนินการพัฒนาบุคคลากรให้มีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรม รวมถึงการเปิดโอกาสและผลักดันให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมและปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้มีการสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดคนที่มีความรู้ ทักษะและความสามารถตรงตามความต้องการของบริษัท เข้ามาร่วมงานและพัฒนาธุรกิจใหม่ ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร

(2) ความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของธุรกิจ

บริษัทได้นำเอาแนวทางการการทำแผนบริหารความต่อเนื่อง (Business Continuity Plan)เข้ามาปรับใช้ในการดำเนินงานโดยมีการประเมิน Business Impact Analysis และ Risk Event Assessment พบประเด็นที่มีนัยสำคัญ ดังนี้

2.1 สายการผลิตบางส่วน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความต่อเนื่องของลูกค้า หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่อสายการผลิต เช่น เครื่องจักร อาจสร้างความเสียหายต่อสายการผลิตของลูกค้ารายสำคัญได้ ดังนั้น บริษัทในกลุ่มสมบูรณ์ที่มีความเกี่ยงข้องกับลูกค้าโดยตรงได้โดยการจัดทำแผนงาน และจะจัดให้มีการซ้อมแผนเสมือนจริงสำหรับการย้ายสายการผลิตภายในกลุ่มและขอการอนุมัติจากลูกค้า เพื่อให้สามารถกลับมาผลิตได้ภายใต้ระยะเวลาที่ยอมรับได้ของลูกค้า

2.2 ความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ยังคงมีผลกระทบบางส่วนจากนโยบาย Zero Covid Policy จากจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย ในส่วนของการควบคุมการดำเนินงาน บริษัทฯยังคงมีคณะทำงานด้านบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ โดยยังคงจัดให้มีนโยบายพื้นฐานให้พนักงานปฏิบัติตามเพื่อลดความเสี่ยง ได้แก่ การสวมใส่ Mask การให้พนักงานทำการตรวจดูอาการของตนเองก่อนการเข้าทำงาน การเปิดโอกาสให้ทำงานแบบ Hybrid พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้ เป็นต้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาไม่พบกรณีความเสี่ยงที่ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก

ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial risk)

(1) ความเสี่ยงราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ความผันผวนของราคาวัตถุดิบโดยเฉพาะราคาเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิต ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนในด้านต้นทุนและผลประกอบการของบริษัท จึงได้กำหนดแนวทางจัดการความเสี่ยงโดยให้มีการพิจารณาเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายและติดตามลูกค้าเพื่อปรับราคาขายตามรอบสัญญา

นอกจากนี้ความผันผวนของราคาเหล็กที่จัดซื้อด้วยสกุลเงินต่างประเทศซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิต อาจส่งผลกระทบกับต้นทุนและผลประกอบการโดยรวม บริษัทจึงได้ดำเนินการเจรจากับคู่ค้าและลูกค้าในการรับมือเพื่อลดความเสี่ยงของบริษัทจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนไปตามเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง บริษัทมีรายได้จากการส่งออกและรายจ่ายจากการซื้อวัตถุดิบที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน (Natural Hedge) โดยรวมทำให้สามารถจำกัดความเสี่ยงและผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรได้

(2) ความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง อันเกิดจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงอันเกิดจากค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยหลักมาจากการขาดแคลนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า เช่น ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกและปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยและพม่าลดลงทำให้ต้องพึ่งพิงการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ต่อค่าไฟฟ้าผันแปร(FT)ในไทยที่เพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตและกำไรขององค์กร ทางบริษัทจึงได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าลดลง รวมทั้งยังได้มีการติดตั้งและใช้งานระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เป็นจำนวน 3.66 MW ในปี 2565 เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานในสายการผลิตเพื่อลดการจ่ายค่าไฟช่วง peak และหาแนวทางการจัดการในสายการผลิตที่ทำให้ลดการใช้ปริมาณมากในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น การวางแผนการเปิดเตาหลอมไม่ให้เปิดพร้อมกันทั้งหมด เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ใช้ไฟปริมาณมากในช่วง cold start ในขณะเดียวกันบริษัทได้ดำเนินการขอเจรจากับลูกค้าเพื่อชดเชยค่าพลังงานที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นในปี 2565 รวมถึงราคาค่าระวางเรือที่สูงในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 กระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงต่อระดับการทำกำไร ทางบริษัทฯได้เจรจาความร่วมมือเพื่อขอชดเชยค่าขนส่งกับลูกค้า ทำให้ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งจึงลดน้อยลง ทั้งนี้ ความเสี่ยงดังกล่าวได้ทะยอยลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป ทำให้ผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าวลดลงตามลำดับ

ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับและกฎระเบียบทีเกี่ยวข้อง (Compliance risks)

(1) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย กฎระเบียบ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอุตสาหกรรม

บริษัทได้มีการขยายตัวไปในธุรกิจ ซึ่งอาจมีกฏหมายและข้อบังคับเฉพาะในสายธุรกิจนั้นๆ รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฏหมายข้อบังคับต่างๆของภาครัฐ บริษัทจึงได้กำหนดให้มีการศึกษาและทบทวนกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจอย่างสม่ำเสมอหรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ พร้อมพัฒนานโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายต่าง ๆ แต่งตั้งผู้รับผิดชอบ และจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามความจำเป็น เพื่อป้องกันการขัดต่อข้อกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัท ถูกลงโทษและถูกเรียกค่าปรับจากหน่วยงานราชการหรือนิคมอุตสาหกรรมได้

ความเสี่ยงในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)

แนวทางการดำเนินการอย่างยั่งยืน ถูกนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นวงกว้างในระดับโลก โดยเฉพาะแนวทางปฏิบัติด้าน ESG ซึ่งครอบคลุมการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสีย บริษัทฯเองมีความเสี่ยงที่ดำเนินการประเมินและติดตาม ดังนี้

(1) ความเสี่ยงด้านผลกระทบและโอกาสด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัทได้นำ กรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า “TCFD” (Task Force on Climate-related Financial Disclosures) มาปรับใช้ โดยพบว่าประเด็น Transition Risk ที่บริษัทให้ความสำคัญและติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเตรียมออกพระราชบัญญัติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ในระยะอันสั้นจะเริ่มมีการบังคับให้ทำการประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร ซึ่งในปัจจุบันเองบริษัทได้ดำเนินการจัดทำอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทำให้บุคคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว, มาตรการการปรับราคาก่อนข้ามพรมแดนในสหภาพยุโรป (CBAM) ถึงแม้ว่าบริษัทจะไม่มีผลิตภัณฑ์โดยตรงในการส่งออกไปยุโรปแต่อาจได้รับผลกระทบจากการร้องขอข้อมูลจากห่วงโซ่อุปทานที่ลูกค้าร้องขอข้อมูลจากลูกค้าในระดับผลิตภัณฑ์ อันเนื่องมาจากการมีข้อกำหนดมาถึงยัง Supply chain ใน GHG Scope 3 รวมถึงการจับตามองสหรัฐอเมริกาที่เป็นฐานลูกค้ารายสำคัญว่าจะมีท่าทีนโยบายนี้อย่างไร ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดทำการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในผลิตภัณฑ์หลักขององค์กรแล้วจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก โดยมีอายุ 3 ปี ,ในส่วนของความเสี่ยงจากนโยบายการเปลี่ยนแปลงรถยนต์จากประเภทสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในระยะสั้นมีผลกระทบน้อย เนื่องจากบริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับชิ้นส่วนเผาไหม้น้อยกว่า 3% แต่ยังคงต้องจับตามองผลกระทบในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่ลดลง และเตรียมแผนงานการปรับเทคโนโลยีให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าที่ปรับตัว

(2) ความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน

ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่องค์กรให้ความสำคัญในการติดตามการดำเนินงานในองค์กร โดยปัจจุบันกำหนดให้มีนโยบายสิทธิมนุษยชน โดยมีประเด็นที่สำคัญ เช่น การไม่เลือกปฏิบัติ ตั้งแต่กระบวนการการสรรหาบุคคลากร และแนวปฏิบัติในการประเมินความเสี่ยงผ่านการประเมินในระดับสายงานทรัพยากรบุคคล ในประเด็นที่สำคัญ เช่น แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก เป็นต้น รวมถึงการเปิดให้มีช่องทางในการรับข้อร้องเรียนผ่านหลากหลายช่องทาง โดยมีนโยบายการปกป้องและเยียวยาผู้ร้องเรียนอย่างเป็นธรรม โดยในปัจจุบันยังไม่พบประเด็นที่มีความเสี่ยง

1.2 ความเสี่ยงต่อการลงทุนของผู้ถือหลักทรัพย์

ความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนของผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับตามที่คาดหวัง

ราคาหุ้นของบริษัทจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัท และการสร้างการเติบโตของบริษัทในระยะยาว ซึ่งอาจจะถูกกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  • ยอดการผลิตรถยนต์ของประเทศไทย
  • ยอดผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรของประเทศไทย
  • การเปลี่ยนแปลงตามนโยบาย กฎ ข้อบังคับ หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร
  • ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
  • ภาวะเศรษฐกิจ ภาวะวิกฤต สถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น การระบาดของโรคโควิด 19 ภาวะการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ใช้ในรถยนต์ เป็นต้น

ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและราคาหุ้นของบริษัท

ความเสี่ยงจากความสามารถในการจ่ายปันผลไม่เป็นไปตามที่ผู้ลงทุนคาดหวัง

ความสามารถในการจ่ายปันผลขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การรักษาระดับเงินสำรองให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ งบลงทุนปกติและการสำรองเงินทุนเพื่อการขยายธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อระดับเงินสดที่จะจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ดี บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิที่เหลือหลังหักเงินสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทที่กฎหมายและบริษัทได้กำหนดไว้

1.3 ความเสี่ยงต่อการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (กรณีผู้ออกหลักทรัพย์เป็นบริษัทต่างประเทศ)

-ไม่มี-

1.4 ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk)

(1) ความเสี่ยงอันเกิดมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

สงครามระหว่างรัสเซีย ยูเครนเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2565 ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก ก่อให้เกิดความเสี่ยงขึ้นหลายด้าน อาทิ ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น ราคาวัตถุดิบที่จำเป็นในกระบวนการผลิตที่ผันผวนตามอัตราการแลกเปลี่ยนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ทั้งอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศและต่างประเทศ บริษัทได้มีการวางแนวทางในการติดตามสถานการณ์ทั้งปัจจัยของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงติดตามปัจจัยที่เป็นผลกระทบกับบริษัท เช่น ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ค่าขนส่ง อัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ซึ่งบริษัทได้วางมาตรการป้องกันในปัจจัยที่เป็นผลกระทบกับบริษัท ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อความเสี่ยงข้างต้น

(2) ความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ [Cybersecurity risk]

บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี ได้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการดำเนินการธุรกิจในด้านการบันทึกข้อมูล ติดต่อสื่อสาร และประสานการทำงานในด้านต่างๆ ซึ่งมีผลให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่ระบบสารสนเทศจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงักและเกิดความเสียหายในด้านของข้อมูลและระบบ บริษัทได้คำนึงถึงความปลอดภัยในข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายในห่วงโซ่คุณค่า บริษัทจึงได้เริ่มดำเนินการจัดทำการประเมินระดับ Cyber Security Maturity Risk โดยใช้ NIST Framework โดยได้รับความร่วมมือในการดำเนินจากโครงการของตลาดหลักทรัพย์ และได้เริ่มจัดทำแผนงานและการดำเนินงานยกระดับ ได้แก่ การจัดทำนโยบายการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร การจัดให้มีบุคคลากรประเมินและติดตามความเสี่ยง โดยมี Key Risk Indicator ที่สำคัญในการประเมินความเสี่ยงระดับสายงานทุกเดือน