การกำกับความเสี่ยงในองค์กร (Risk Governance)

บริษัทในกลุ่มสมบูรณ์ ตระหนักดีว่าการดำเนินงานในปัจจุบันอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ จึงได้นำระบบการบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐานในระดับสากล (COSO ERM 2017) มาใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลกิจการ เพื่อช่วยควบคุมและลดผลกระทบของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมถึงเพื่อให้สามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้า พนักงาน และคู่ค้า นำสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรและการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้มีการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งองค์กร และมั่นใจว่าการบริหารความเสี่ยงจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงได้มีการกำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยง ไว้ดังนี้

1. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับนโยบาย (BOD และ Ex-BOD) ทำหน้าที่ กำกับดูแลการดำเนินงานตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงและอนุมัติความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ขององค์กร กำหนดโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงให้ครอบคลุมทั้งองค์กร แต่งตั้งและติดตามผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับจัดการ (ERM) รวมถึงให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการดำเนินงานตามระบบบริหารความเสี่ยงขององค์กร

2. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับจัดการ (Enterprise Risk Management Committee: ERM) ทำหน้าที่กำหนดกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงระดับองค์กรและความเสี่ยงที่ยอมรับได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับนโยบายเพื่อพิจารณา กำหนดกระบวนการและมาตรการในการบริหารความเสี่ยงในระดับองค์กร ติดตามการทบทวนความเสี่ยงและการรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบและธรรมาภิบาล รวมถึงแต่งตั้งคณะทำงานบริหารความเสี่ยงระดับสายงาน (FRM) แต่ละสังกัดตามความเหมาะสม

3. คณะทำงานบริหารความเสี่ยงระดับสายงาน (Functional Risk Management Committee: FRM) ทำหน้าที่บ่งชี้ ประเมินความเสี่ยง และจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงระดับสายงาน พร้อมทั้งกำหนดผู้รับผิดชอบ รวมถึงติดตามและรายงานผลการจัดการความเสี่ยงระดับปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท

4. คณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ทำหน้าที่ กำกับดูแลและประเมินประสิทธิผลการดำเนินงานตามระบบบริหารความเสี่ยงขององค์กร สอบทานการบริหารความเสี่ยง และให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร หรือคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ในการปรับปรุงการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยงขององค์กรในภาพรวม

โครงสร้างการบริหารความเสี่ยงของ SAT